สัมผัสความงามของธรรมชาติชมป่าไม้เปลี่ยนสี ให้ธรรมชาติฮีลใจที่ภูผาแดง

ต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง สัมผัสความงามชมธรรมชาติกับใบไม้เปลี่ยนสี ราวกับภาพวาด ที่ภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงมกราคม นอกจากได้สัมผัสบรรยากาศเย็นๆ หมอกจางๆ แล้ว ใบไม้ยังทยอยเปลี่ยนสี ร่วงหล่น สร้างบรรยากาศสวยงามแปลกไปจากเดิม เสมือนได้ท่องเที่ยวเมืองนอก

อ่าน : 339 ครั้ง

สัมผัสความงามของธรรมชาติชมป่าไม้เปลี่ยนสี ให้ธรรมชาติฮีลใจที่ภูผาแดง

ต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง สัมผัสความงามชมธรรมชาติกับใบไม้เปลี่ยนสี ราวกับภาพวาด ที่ภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงมกราคม นอกจากได้สัมผัสบรรยากาศเย็นๆ หมอกจางๆ แล้ว ใบไม้ยังทยอยเปลี่ยนสี ร่วงหล่น สร้างบรรยากาศสวยงามแปลกไปจากเดิม เสมือนได้ท่องเที่ยวเมืองนอก

 

 

“ภูผาแดง” ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ใน จ.เพชรบูรณ์ เป็นสถานที่เที่ยวงดงามที่คนรักธรรมชาติไม่ควรพลาด โดยเฉพาะจุดชมใบไม้เปลี่ยนสี ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ และเมื่อขึ้นไปยืนบนชะง่อนหินจะสามารถมองเห็นผืนป่าแดง เหลืองอร่าม ซึ่งอยู่กับรอยต่อกับป่าน้ำหนาว มองเห็นทางหลวงหมายเลข 12 ที่ตัดผ่านป่าใหญ่ คดเคี้ยวอย่างสวยงาม โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชมการดูนก ต้องบอกเลยว่า นี่คือสวรรค์ย่อมๆ เลยก็ว่าได้ เพราะเส้นทางนี้เต็มไปด้วยนกหลากชนิดมีให้ชมอย่างมากมาย

 

 

นอกจากทิวทัศน์อันสวยงามแล้ว ภูผาแดง ยังมีจุดชมพระอาทิตย์อัสดงแสนโรแมนติกที่งดงามมาก ด้วยพื้นที่ที่มีความสูง ประกอบกับ ตัวผาแดงเป็นชั้นหินทรายแดง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรและสูงจากระดับพื้นราบที่เป็นทางหลวงหมายเลข 12 ประมาณ 200 เมตร บริเวณจุดชมวิวเป็นลานหินเรียบอยู่ด้านบนของผา จากยอดผาแดงนี้เอง เป็นจุดที่สามารถมองเห็นหลักฐานของรอยเลื่อนมีพลังเพชรบูรณ์ (Phetchabun Active Fault Zone) ที่วางตัวไปตามเทือกเขาในแนวเกือบเหนือ-ใต้ โดยมองไปทางทิศใต้ จะเห็นยอดเขาที่มีลักษณะสามเหลี่ยมเป็นแนวตรง เรียงลดหลั่นกันเป็นชั้น แสดงให้เห็นว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อนเพชรบูรณ์หลายครั้งในรอบหมื่นปี

 

 

                การกำเนิดของผาแดง

ทราบกันหรือไม่ค่ะว่า ?...ผาแดงเป็นหินทรายแดงหมวดหินภูพาน กลุ่มหินทรายแดงโคราช อายุ 120-100 ล้านปี ที่มีวางตัวของชั้นหินเกือบขนานกับแนวระนาบ และเกิดเป็นหน้าผา เนื่องจากการยกตัวของเปลือกโลกอินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) เป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวเข้าหากันกับเปลือกโลกชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางทิศตะวันตก จึงเกิดเป็นผาแดงขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมในปัจจุบัน

 

 

และเมื่อปี 28-29 พฤษจิกายน 2563 ที่ผ่านมานี่เอง กรมทรัพยากรธรณี ได้ค้นพบรอยเท้า และฟอสซิลคล้ายชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ รอยเท้าสัตว์โบราณ ในลำห้วยน้ำดุกจำนวน 2 รอยและพบรอยเท้าราว 10 รอยบนก้อนหินทรายขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นหินในหมวดหินน้ำพอง ยุคไทรแอสสิกตอนปลายอายุประมาณ 200 ปีอยู่ในลำห้วยน้ำดุกและลำห้วยกลฑาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง อีกด้วย

 

 

การเดินทาง

สำหรับคนที่รักธรรมชาติอยากมาสัมผัสชมความงามของป่าไม้เปลี่ยนสีที่ภูผาแดง สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 12 โดยผ่านทางศาลเจ้าพ่อผาแดง จะมีป้ายบอกทางให้ไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ตรงไปอีกราว 3 กม.ก็จะพบกับหน้าผาที่มีลักษณะคล้ายกับผาหล่มสัก บนยอดภูกระดึงเลยค่ะ

 

 

โดยจะมีจุดเด่นเป็นชะง่อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศ ถือเป็นจุดชมวิวยอดนิยมเพื่อมาดูทิวทัศน์ของป่าเปลี่ยนสี อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์อัสดงที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยอีกด้วย

 


 

เรียบเรียงโดย: โรสรินทร์ พุมฤทธิ์

ภาพโดย:Yujang Khachitphan Arunrattanakan 

ท่องเที่ยวแนะนำ